พลังประชารัฐ เผยสามชื่อตัวแทนท้าชน ชัชาติ แย่งตำแหน่ง ผู้ว่ากรุงเทพ มี ผู้ว่าหมูป่า อยู่ด้วย ชี้ต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียงสูสีชัชชาติ สำนักข่าว มติชน ได้รายงาน ข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) แจ้งว่า ภายหลังการประชุมพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา แกนนำ และส.ส.หลายคน แยกย้ายเดินทางกลับ และขบวนรถของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่ออกจากพรรคตั้งแต่เวลา 16.00 น.
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ขบวนรถของ พล.อ.ประวิตร ได้วนกลับเข้ามาในพรรคอีกครั้ง
พร้อมเรียกแกนนำและส.ส.บางคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส.ส.ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรค และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค อาทิ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และรองเลขาธิการพรรค นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส นายบุญสิงห์ วรินทรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค นายจิรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง โดยใช้เวลาหารือกว่า 1 ชั่วโมง
รายงานข่าวแจ้งว่า ประเด็นที่หารือในครั้งนี้ ได้พูดถึงการถอนตัวไม่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.โดยมีการยืนยันกับ พล.อ.ประวิตรว่า ไม่ได้บีบหรือกดดัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ แต่ได้เสนอว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ควรส่งในนาม พปชร.เพราะ ส.ก.กับ ส.ส.ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ถือว่ามีบทบาทสำคัญในสนามเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย เหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มี ส.ก.ของพรรคเช่นกัน และถึงเวลาที่จะคัดเลือกบุคคลลงแต่ละพื้นที่ได้แล้ว
ส่วนผู้สมัคร ส.ก. 50 คนในทีมของพล.ต.อ.จักรทิพย์ หลังจากประกาศถอนตัวแล้ว ก็กลับมาร่วมงานกับพปชร.ได้ ทั้งนี้ การส่ง ส.ก.ในนามพปชร. ยังติดขัดข้อกฎหมายที่ห้ามมิให้ข้าราชการการเมือง หรือ ส.ส.ใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้คุณให้โทษกับผู้สมัครหรือเลือกตั้งท้องถิ่น
รายงานข่าวแจ้งว่า ส่วนกรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. มีการยืนยันตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ลงสมัครในนามพปชร. และได้เตรียมทีมส.ก.ในนามของรักษ์กรุงเทพฯ ของตัวเองไว้ทั้ง 50 เขตแล้ว
โดยในที่ประชุม มีแกนนำคนหนึ่งเสนอว่า หลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ถอนตัว พปชร.ก็ไม่จำเป็นต้องสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เพราะเขามีทีมอยู่แล้ว พร้อมเสนอว่า ให้พรรคตัดสินใจส่งผู้สมัครลงในนามพรรค เพราะกทม.คือพื้นที่เมืองหลวง เป็นหัวใจของประเทศ และทุกพรรคก็ตัดสินใจส่งผู้สมัครด้วยเช่นกัน เพียงแต่ผู้ที่เหมาะสม ต้องมีชื่อเสียงสูสีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่ลงสมัครในนามอิสระ
ทั้งนี้ มีการพูดชื่ออย่างน้อย 3 คน คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯปทุมธานี ที่ก่อนหน้านี้เข้าพบพล.อ.ประวิตร ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งก่อนหน้านี้มีชื่อแคนดิเดตผู้สมัครของ ปชป.ด้วย รายงานข่าวแจ้งว่า ในการหารือครั้งนี้ พล.อ.ประวิตร รับฟังการหารือโดยไม่ได้แสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด
‘อนุทิน’ ย้ำจุดยืนไม่แตะ ม.112 เด็ดขาด ชี้ต้องทำให้เข้มแข็ง
อนุทิน ออกมาประกาศจุดยืนของพรรค ภูมิใจไทย ต่อ ม.112 ย้ำพรรคไม่แตะ ม.112 เด็ดขาด ชี้ต้องทำให้มาตราดังกล่าวเข้มแข็งขึ้น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ออกมากล่าวถึงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยต่อ มาตรา 112 หลังจากที่ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองเริ่มออกมาแสดงจุดยืน ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อมาตราดังกล่าว
โดยนายอนุทินระบุว่า ตนพูดมาตั้งแต่ก่อตั้งพรรคว่า มาตรา 112 จะแตะไม่ได้ และจะไม่มีการแก้ไขในส่วนของพรรค ภท. มีแต่ต้องทำให้เข้มแข็ง และมองว่าตอนนี้ยังไม่มีเรื่องอะไรที่ทำให้มาตรา 112 จะถูกกระทบกระเทือนหรืออ่อนแอลง
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงกรณีที่น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ที่ย้ายมาอยู่ในสังกัดพรรคภท. ว่า ไม่มีปัญหา น.ส.พรพิมล พ้นจากพรรคเดิมก็มาอยู่กับพรรคเรา จึงเป็นการทดแทนกันไป ส่วนการลงมติทุกอย่างในสภาฯ ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยืนยันว่าพรรค ภท. ต้องมีความเป็นเอกภาพและไม่มีการบังคับอะไร เนื่องจากเราทำความเข้าใจภายในพรรคก่อนที่จะมีมติอะไรออกมา
เพื่อไทยยืนยันเจตนารมณ์พร้อมนำข้อเสนอเดินหน้าแก้กฎหมาย ม.112 และ ม.116 เข้าสู่วาระการประชุมสภา โดยจดหมายระบุว่า ปัญหาการใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีเพื่อจำกัดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอย่างล้นเกิน ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 พระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ หรือความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตามอดีตนายกฯระบุว่า รัฐบาลใช้อำนาจไม่ถูกต้อง แนะควรจับเข่าคุยกับเยาวชน เริ่มต้นใหม่ เพื่อถวายความภักดีอย่างถูกต้อง โดยนายทักษิณกล่าวว่า เมื่อตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่เป็นปัญหาคือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยกในสังคมต่างหาก ถ้ามีการจัดระเบียบให้ถูกต้อง และมีการพูดคุยกับผู้เห็นต่างบ้าง ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และนำไปสู่การรักษากฎหมายที่เป็นธรรม และก็จะไม่มีใครเดือดร้อน
Credit : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว | แต่งบ้านและสวน | พระเครื่อง | รีวิวกล้องถ่ายรูป